เหตุผลที่มาของรูปแบบเกษตรอินทรีย์
เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นมาจากการให้ความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยวิธีทางธรรมชาติ ปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและสารเร่งการเจริญเติบโตทุกชนิด เนี่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในไร่นา ก่อให้เกษตรกรประสบปัญหาในด้านสุขภาพอย่างรุนแรง ประกอบกับต้องลงทุนสูง แต่ผลผลิตที่ได้มีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม นอกจากนี้สารเคมีที่ใช้ยังไปทำลายแมลงและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ เป็นผลให้ระบบนิเวศเกิดความไม่สมดุล นอกจากนี้เกษตรอินทรีย์จะเน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากประสบการณ์ ผสมผสานกับวิทยาการสมัยใหม่แบบพึ่งพาธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหา และนำมาสู่ความยั่งยืนทางการเกษตร
จึงอาจกล่าวได้ว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพ ใช้ซากพืช มูลสัตว์ การปลูกพืชหมุนเวียน แร่ธาตุตามธรรมชาติในการปรับปรุงดิน ผสมผสานกับการกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติช่วยในการควบคุมทำลายศัตรูพืช
วัตถุประสงค์ของเกษตรอินทรีย์
1) การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเกิดขึ้น ดำรงอยู่และตายไปต้องอาศัยดิน ในขณะที่พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ ฉะนั้นพืชจึงเป็นแหล่งอาหารเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต้องมีคุณสมบัติที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ แร่ธาตุ อินทรียวัตถุ และสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจีงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินโดยให้ความสำคัญของโครงสร้างทางกายภาพของดิน และองค์ประกอบที่เป็นธาตุอาหารพืช อินทรีย์วัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน
2) การสร้างความปลอดภัยของอาหาร
เนื่องจากการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากและสะสมเป็นระยะเวลานานของรูปแบบการเกษตรกระแสหลัก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อพัฒนาการของภูมิปัญญาท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุด คือ ผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคจากสารพิษที่ตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร
หลักการและเงื่อนไขของเกษตรอินทรีย์
1) การหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการผลิต
2) การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จุลินทรีย์
3) การควบคุมและกำจัดศัตรูโดยชีวภาพ กายภาพ และอินทรีย์เคมีหรือโดยวิธีธรรมชาติ
เนื่องจากในแนวทางการเกษตรแบบอินทรีย์นั้น หัวใจสำคัญ คือ การปรับปรุงดินให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เทคนิคต่างๆ ในการปรับปรุงดิน จึงถือเสมือนว่าเป็นปัจจัยปลักแห่งความสำเร็จของการเกษตรอินทรีย์ อาทิ เช่น
การใช้ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน พืชหมุนเวียน ปลูกพืชสดเป็นปุ๋ย
การใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คือ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เศษพืชที่มีในไร่นา
การใช้จุลินทรีย์ในดิน เช่น โปรโตซัว เชื้อรา แบคที่เรีย ไวรัส ทำให้เกิดกระบวนการทางชีวเคมี ในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดิน ในการปรับปรุงดิน
ใช้วัสดุที่เกิดจากธรรมชาติประกอบด้วยหินที่มีแร่ธาตุอาหารที่ต้องการ
การใช้ชีววิธีหรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การกำจัดเพลี้ยอ่อนโดยใช้ว่านน้ำ พญาไร้ใบ และทานตะวัน เป็นต้น
การใช้กลวิธีในการดักจับศัตรูพืช เช่นติดไฟล่อแมลง กาวกับดัก เป็นต้น
การพัฒนารูปแบบเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
แนวคิดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ได้รับการพัฒนามาจากประสบการณ์ในทางปฏิบัติ ของผู้ที่เป็นทั้งนักวิชาการเกษตรและเกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีกรรมวิธีที่หลากหลายในการจัดระบบการผลิต เช่น ทำการเพาะปลูกพืชหลายชนิดผสมผสานกันเพื่อให้เกิดความหลากหลาย ใช้ชีววิธีในการกำจัดศัตรูพืช หรือทำการปลูกพืชชนิดเดียวแต่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ผลผลิตเกษตรปลอดสารพิษได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการโดยขึ้นอยู่กับขนาด ความสด รสชาติ มาตรฐานและคุณภาพ ดังนั้นจึงมีการกำหนดมาตรฐานสากลของ สมาพันธ์ขบวนการเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federal of Organic Agriculture Movement: IFOAM)ซึ่งต่อมาในประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็น สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท.(Organization Agriculture Certification Thailand:ACT)
รูปแบบเกษตรอินทรีย์ สามารถจำแนกตามประเภทของพืชที่ปลูกได้ดังนี้
1) การปลูกพืชผักในแบบเกษตรอินทรีย์
เป็นการปลูกผักชนิดเดียวหรือปลูกผสมผสานกันหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน
2) การปลูกพืชไร่ในแบบเกษตรอินทรีย์
เช่น ข้าว ซึ่งมีการพัฒนาเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเป็นระบบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ อาจจะมีการประยุกต์โดยเพิ่มพืชตระกูลถั่ว หรือเลี้ยงปลาในนาข้าวไปด้วยก็ได้
3) การปลูกไม้ผลในแบบเกษตรอินทรีย์
เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยจากเศษเหลือของพืช มูลและซากสัตว์ เป็นอาหารของ
จุลินทรีย์เพื่อช่วยในการปรับปรุงดิน ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
ข้อเด่นของการเกษตรอินทรีย์
1) การก่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ
2) การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
3) การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น