วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2558

เกษตรไทยกับการก้าวสู่ ประชาคมอาเซียน

เกษตรไทยกับการก้าวสู่ ประชาคมอาเซียน

อนาคตเกษตรไทยภายใต้ AEC จะเป็นอย่างไรต่อไป จากข้อตกลงของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ที่กำหนดให้ปี 2558 ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องลดภาษีสินค้าเป็นศูนย์ ซึ่งนั่น ย่อมส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยทั้งดีและร้ายแน่นอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดทั้งอุปสรรคใหญ่ และโอกาสให้กับประเทศ โดยสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ยางพารา อ้อย และอื่นๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของหลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเด็นที่ท้าทายอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็คือ เราจะฉกฉวยโอกาสได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้การเปิดเสรีนี้

  1. เกษตรกรไทยก้าวไกลสู่ AEC กับ 
  2.     อ.ภูชิสส์ ศรีเจริญ สถานีทุนมนุษย์


                  
การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน ต้องขอให้รัฐบาลเป็นผู้หาข้อมูลการลงทุนเกี่ยวกับการเกษตรและสินค้าเกษตรในอาเซียน 10 ประเทศว่าแต่ละประเทศมีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไร ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราพอจะรู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าอีก 9 ประเทศ เช่น พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ฯลฯ มีอะไรเป็นจุดเด่นในเรื่องการเกษตรบ้าง



รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนนักธุรกิจไทย เพราะเท่าที่ติดตามข้อมูลเรื่องการเกษตรของประเทศในอาเซียน ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรโดดเด่นไม่เป็นรองใคร ยกเว้นมาเลเซียที่เหนือกว่าใครในเรื่องปาล์ม แต่วันนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาพันธุ์ปาล์ม ซึ่งสามารถแข่งขันกันได้ และยังมีพันธุ์ยางที่พัฒนาก้าวไกลเหนือมาเลเซีย จนพูดได้ว่าวันนี้ยางไทยเป็นที่หนึ่งของโลกและเหนือกว่ามาเลเซีย

                  
ในประเทศที่มีจุดเด่นด้านการเกษตรและยังมีโอกาสที่จะพัฒนาได้ ประเทศไทยต้องพิจารณาเข้าไปลงทุน เพราะปัจจุบันโลกไม่มีพรมแดนอีกต่อไป สนามรบเป็นสนามการค้า ดังที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะนำความความรู้และความสามารถของ นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ

                  
ยกตัวอย่าง กัมพูชาผลิตข้าวได้ปีละเป็นล้านตันแต่ปรากฏว่าไม่มีตลาดรองรับ จึงเป็นโอกาสของไทย นักลงทุนไทยสามารถซื้อข้าวจากกัมพูชาและนำไปขายในตลาดต่างประเทศ คนไทยก็ได้กำไร กัมพูชาก็มีเงินตราเข้าประเทศ นอกจากนี้ไทยยังสามารถนำสินค้าอื่น ๆ ไปขายให้กับกัมพูชาได้อีก เช่น รถมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ ฯลฯ

                  อีก 3 ปีข้างหน้า 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงประเทศไทย จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยการเปิดเสรีด้านสินค้า บริการและการลงทุน ดังนั้น แต่ละประเทศต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี รวมทั้งปกป้องตนเองให้สามารถดำรงสถานะที่ได้ประโยชน์และไม่เสียเปรียบประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าพืช เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทย



นอกจากด้านกฎหมายแล้ว กรมฯ ยังมีการเตรียมความพร้อมในด้านงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีต้นทุนต่ำ เพิ่มผลผลิต และมีคุณภาพ รวมทั้งวางแผนการผลิต โดยเน้นการผลิตพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันระหว่างอาเซียน มีการวิเคราะห์ผลกระทบรายสินค้าทั้งเชิงบวกและลบของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน การกำหนดค่าสารพิษตกค้างสูงสุดในผลผลิตที่ยอมรับได้ หรือเอ็มอาร์แอลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลรวมทั้งมาตรฐานที่อาเซียนกำหนดเป็นข้อตกลงร่วมกัน ควบคู่กับการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าการนำเข้าโดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกคนจะต้องปรับตัวในการเรียนรู้และพัฒนาจุดด้อย เพิ่มประสิทธิภาพจุดเด่นให้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งเกษตรกรมีศักยภาพอยู่แล้ว อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ของเราก็มีอยู่มากมาย ถ้าสามารถร่วมมือกันสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด เราจะได้การยอมรับจากผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากนี้เรายังมีแหล่งวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากนอกกลุ่มอาเซียน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ดังนั้นการขายสินค้าเราจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ 60 ล้านคน ขยายเป็นประชากรในภูมิภาคอาเซียน 600 ล้านคน รวมไปถึงตลาดนอกอาเซียนที่ประเทศไทยส่งออกอีกจำนวนมาก

                  



ที่มา:CP E-News / dailynews.co.th / agri.eco.ku.ac.th

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้
      •  กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สมารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการ
มองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อ
ความมั่นคง และ ความยั่งยืน ของการพัฒนา
      •  คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ
โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
      •  คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้

          •  ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียน
              ตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
          •  ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไป
              อย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
              จากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
          •  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง
              ด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
              ในอนาคตทั้งใกล้และไกล 


     เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้
และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

  • เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
    ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน
    และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
  • เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม
    มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
     แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ
การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
ความรู้และเทคโนโลยี

เศรษฐกิจพอเพียง



ที่มา :http://www.eto.ku.ac.th/s-e/main-th.html

การส่งเสริมทางการเกษตร

การส่งเสริมทางการเกษตร
การส่งเสริมการเกษตร คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับแหล่งวิทยาการเพื่อที่จะกระจายความรู้ใหม่ๆ และหลักการที่ดีไปสู่เกษตรกร และทำให้เกษตรกรเหล่านี้ได้นำวิทยาการแผนใหม่ไปใช้ในฟาร์มของตน
การส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย กล่าวคือผลของการค้นคว้าวิจัยทางเกษตรกรรมจะไม่มีประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าไม่ได้นำผลเหล่านี้ไปมอบให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติความสัมพนธ์ระหว่างการส่งเสริมเกษตรกับการค้นคว้าวิจัยพอสรุปเป็นแผนผังได้ดังนี้
ลักษณะของงานส่งเสริมการเกษตร
1. งานส่งเสริมการเกษตรเป็นแบบของการศึกษานอกโรงเรียนที่รัฐหรือเอกชน ก็สามารถทำได้
2. การส่งเสริมการเกษตรเป็นการติดต่อสองทางกลับไปกลับมาระหว่าง สถาบันกับเกษตรกร โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเป็นตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
3. ควรเริ่มด้วยสภาพที่เป็นอยู่จริง ๆ ของเกษตรกร และเรื่องที่จะส่งเสริมนั้นจะต้องเป็นความต้องการที่แท้จริงของเขาด้วย
4. เกษตรกรต้องมีโอกาสเรียนรู้ด้วยการกระทำของจริง
5. เป็นการติดต่อกับคนในชนบทเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการปฏิบัติงานกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศและอายุ
6. ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นจุดเริ่มต้น
7. มีวิธีปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องกัน
8. มีวิธีดำเนินงานที่เป็นประชาธิปไตย
9. เป็นการสร้างผู้นำในท้องถิ่น
10. มีโครงการหรือแผนปฏิบัติงานที่แน่นอนและรู้ว่าจะประสานงานกับใครบ้าง
11. มีการติดตามผลงานหลังการปฏิบัติ
12. มีการรายงานผล เพื่อวางแผนปรับปรุงในปีต่อ ๆ ไป

ยุวเกษตรกรกับการส่งเสริมการเกษตร


บทบาทและหน้าที่ของนักส่งเสริมหรือพัฒนากร
นักส่งเสริมเกษตรเป็นนักพัฒนาคนหนึ่ง ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ใหม่ ๆ เพื่อไปช่วยในการเพิ่มผลผลิตของเขา ดังนั้นนักส่งเสริมเกษตรจึงมีบทบาทดังนี้
1. เป็นผู้นำทางวิชาการ และเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หมายความว่าเขาจะต้องมีความรู้และมีหูตากว้างไกล
2. เป็นผู้ประสานงานทางวิชาการและการปฏิบัติ กล่าวคือนักส่งเสริมจะต้องประสาน เชื่อมโยงระหว่างสถาบัน(นักวิชาการ) กับเกษตรกรผู้ปฏิบัติ
3. เป็นผู้แก้ปัญหาของชุมชน กล่าวคือนักส่งเสริมซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกร ย่อมจะรู้ปัญหาของชุมชน เขาจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วย
4. เป็นผู้เชื่อมโยงบุคคลและองค์การต่างๆ เข้าด้วยกัน กล่าวคือในการทำงานในท้องถิ่น เขาย่อมจะพบกับบุคคลหลายฝ่าย นอกจากเขาจะเชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการกับเกษตรกรแล้วเขาจะต้องประสานงานกับบุคคลและหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
ลักษณะของนักส่งเสริมที่พึงประสงค์
เนื่องจากงานส่งเสริมการเกษตรเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายประเภท ใครที่จะเป็นนักส่งเสริมหรือพัฒนากรที่ดีควรจะได้พิจารณาตัวเอง และเสริมสร้างให้มีคุณลักษณะดังนี้ไว้ด้วยคือ
1. ต้องมีความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติในสาขาวิชาของตนอย่างดี
2. รู้หลักการถ่ายทอคความรู้ คือการฝึกอบรม การเรียน การสอน และการแนะนำต่างๆได้ดี ดังนั้นจึงต้องรู้ในเรื่องหลักการติดต่ออสื่อสาร การใช้โสตทัศนูปกรณ์ หลักจิตวิทยาและสังคมชนบทด้วย
3. เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี และชอบงานที่ให้บริการแก่ประชาชน
4. เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม และชอบดัดแปลงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ
5. เป็นผู้ที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สอนให้เกษตรกรทำปุ๋ยจากเศษพืชต่าง ๆ ทำแก๊สจากมูลสัตว์เป็นต้น
6. เป็นผู้ที่กระตุ้นให้เกษตรกรรู้จักปัญหา และแก้ไขปัญหาโดยทั่วของเขาเอง หรือโดยการทำงานเป็นกลุ่ม
7. เป็นผู้สื่อสารระหว่างเกษตรกรในชุมชนกับโลกภายนอก
8. ต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสุข ร่วมทุกข์ กับเกษตรกรด้วยความสุจริตใจ อดทน และหนักแน่น
หลักของการติดต่อสื่อสาร
ในการส่งเสริมการเกษตร นักส่งเสริมควรจะเข้าใจถึงองค์ประกอบของการติดต่อสื่อสารด้วย เพื่อให้การทำงานของเขามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการสื่อความหมาย เราจะพบแหล่งข่าวหรือผู้สื่อข่าว (source and Sender) และจะมีตัวข่าวหรือข้อมูล (Message)ข่าวนี้จะผ่านไปตามวิถีหรือวิธีต่าง ๆ (channels) เช่น น.ส.พ, วิทยุ ฯลฯ ไปยังผู้รับข่าว (Receiver) นักส่งเสริมจึงเป็นทั้งแหล่งข่าวและผู้สื่อข่าวที่จะต้องเตรียมข่าวให้ถูกต้องเหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้รับข่าว และใช้วิธีการที่ดีเพื่อให้ข่าวนั้น ๆ ได้ถึงไปยังเกษตรกรจำนวนมากโดยที่หวังว่าเกษตรกรจะคล้อยตามและยอมรับข่าว (วิทยาการแผนใหม่) ไปปฏิบัติบ้าง
องค์ประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งข้างต้นนี้ ก็คือผู้รับข่าวหรือเกษตรกร ซึ่งนักส่งเสริมบางท่านอาจจะลืมพิจารณาไป เช่น นักส่งเสริมบางคนเมื่อได้รับมอบหมายให้ไปบรรยาย เรื่องการปลูกมะพร้าว หรือการติดตาเปลี่ยนยอด (ยางพารา) ให้เกษตรกรฟัง เขาก็เตรียมเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนไปบรรยายเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่คำนึงถึงตัวผู้ฟังเลย ก็ทำให้ผู้ฟังเบื่อ และไม่ยอมรับเรื่องที่นักส่งเสริมพูด อย่างนี้ก็จะเกิดการสูญเปล่าขึ้นได้ นักส่งเสริมที่ดีต้องศึกษากลุ่มผู้ฟัง(ผู้รับข่าว) ในประเด็นต่อไปนี้
1. กลุ่มผู้ฟังเป็นใคร ดูว่าเขาเป็นชาวสวนมะพร้าว หรือชาวสวนยาง เขาปลูกมะพร้าวหรือยางมานานกี่ปี เขามีประสบการณ์ หรือความรู้เรื่องมะพร้าวหรือยางเพียงใด เพื่อจะได้เตรียมเรื่องให้เหมาะสม
2. ปัญหาของผู้ฟัง เช่นดูว่าชาวสวนยางกลุ่มนี้มีปัญหาอะไร มีปัญหาเรื่องโรคใบร่วง หรืออย่างไร โรคนี้จะแก้ได้ด้วยวิธีใด วิธีนั้นๆ จะปฏิบัติได้ไหมในชุมชนนั้นๆ
3. ดูว่าเขามีความต้องการอะไร สมมุติว่าเขาต้องการแก้ปัญหาเรื่องโรคใบร่วงของยาง นักส่งเสริมจะต้องพูดถึงวิธีแก้ปัญหาโรคใบร่วง ไม่ใช่จะพูดอ้อนวอนให้เขาปลูกมะพร้าวถ่ายเดียว
4. ต้องศึกษาอายุของผู้ฟัง เพราะการพูดให้เด็กและผู้ใหญ่ฟังไม่เหมือนกัน
5. ดูเพศของผู้ฟัง เพราะเรื่องที่จะพูดให้ผู้หญิงหรือผู้ชายฟังอาจมีเกล็ดย่อยแตกต่างกัน
6. พิจารณาการศึกษาของผู้ฟัง เพราะถ้าผู้ฟังมีการศึกษาต่ำนักส่งเสริมต้องใช้ภาษาง่าย ๆ และต้องเตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ มาเสนอประกอบด้วย
7. ดูลัทธิศาสนาของผู้ฟัง เช่นถ้าผู้ฟังเป็นชาวไทยมุสลิมเราอาจต้องใช้ภาษา และเทคนิคที่ไม่เหมือนชาวไทยพุทธ
8. ดูจำนวนของผู้ฟัง เพราะถ้าผู้ฟังน้อยอาจใช้วิธีสาธิตปฏิบัติ แต่ถ้าผู้ฟังมากอาจต้องใช้วิธีบรรยาย
9. ดูฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ฟัง ตามปกติเกษตรที่มีฐานะดีจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้ง่าย การส่งเสริมก็สะดวกยิ่งขึ้น
10. ดูปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะการตลาด สภาพของดินฟ้าอากาศ ผู้นำในท้องถิ่น และจำนวนของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเอง ว่าจะเอื้ออำนวยให้การส่งเสริมเรื่องนั้น ๆ ได้ผลดีเพียงใด
นอกจากนี้นักส่งเสริมต้องเข้าใจจิตวิทยาและการเรียนรู้ของเกษตรกรด้วย ตามปกติเราถือว่าการส่งเสริมการเกษตรเป็นการศึกษานอกโรงเรียน หรือการส่งเสริมเกษตรเป็นแบบหนึ่งของการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education) ดังนั้นนักส่งเสริมที่ดีจะต้องคำนึงถึงหลักของการเรียนรู้ ของผู้ใหญ่ดังนี้ด้วย
หลักของการเรียนรู้และการสอนผู้ใหญ่
1. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีเมื่อเขามีความต้องการที่จะเรียน ดังนั้นนักส่งเสริมต้องคอยยั่วยุ และชี้ให้เขาเห็นประโยชน์ของการเรียน และต้องให้ผู้ใหญ่เกิดความต้องการที่จะเรียนขึ้นเอง อย่าบังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่นักส่งเสริมคิคว่าดี
2. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีและเรียนเฉพาะสิ่งที่เขามีความจำเป็น ดังนั้นเรื่องที่จะเรียนจะต้องเป็นปัญหาของผู้เรียน หากผู้เรียนยังแยกแยะปัญหาไม่ออก นักส่งเสริมก็ค้นหาปัญหา หรือทำการสำรวจหาปัญหาของเกษตรกรขึ้นมาเสียก่อน
3. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีที่สุดเมื่อเขารู้จุดมุ่งหมายของการเรียนที่ชัดเจน เช่นรู้ว่าเมื่อเรียน แล้วจะติดตาเขียวเป็น ตอนไก่เป็น
4. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีที่สุด เมื่อเขาได้รับผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการเรียน เรื่องนั้น ๆ ในระยะเวลาอันสมควร ดังนั้นนักส่งเสริมต้องหาวิธีการสอนที่สามารถจะโชว์ผลการเรียนให้เกษตรกรได้เห็นอย่างรวดเร็ว
5. ผู้ใหญ่เรียนรู้โดยการกระทำ ดังนั้นนักส่งเสริมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้ทดลอง ปฏิบัติมาก ๆ จะเป็นวิธีการเรียนที่ได้ผลที่สุด
6. เรื่องหรือหัวข้อที่ผู้ใหญ่จะเรียนต้องเป็นปัญหาสำคัญ ๆ และต้องเป็นความจริง
7. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีเมื่อเรื่องนั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ของเขา เช่น ถ้าเขามีความรู้เรื่องการเพาะเห็ดฟางมาบ้าง จะทำให้การเรียนเรื่องการเพาะเห็ดเปาฮื้อได้ผลดีขึ้น
8. ผู้ใหญ่จะเรียนได้อย่างดียิ่งในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เป็นกันเอง ดังนั้นนักส่งเสริมจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศของความเป็นพี่น้อง มิตรสหาย ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใหญ่เรียนได้ดีขึ้น
9. การสอนผู้ใหญ่ควรใช้วิธีการสอนหลายๆอย่าง เช่นการบรรยายคู่กับสาธิต ใช้โสฅอุปกรณ์ประกอบ แล้วให้ทดลองปฏิบัติด้วยตัวเกษตรกรเอง หากยังมีเวลาก็ควรพาไปทัศนาจรดูไร่นา หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้ว
10. ผู้ใหญ่ต้องการแนะแนว ต้องการคำแนะนำไม่ใช่คะแนนหรือการสอบไล่ ดังนั้น นักส่งเสริมต้องคอยแนะนำและบอกให้เขาทราบว่า เขาทำถูกหรือผิดอย่างไร ผู้ใหญ่ต้องการยกย่องชมเชย หากจำเป็นต้องตำหนิจะต้องทำกันสองต่อสองด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแบบญาติมิตร
เทคนิคในการส่งเสริมการเกษตร
สำหรับเทคนิคในการติดต่อแนะนำหรือการสอนประชาชนเป็นเรื่องที่นักส่งเสริมจะต้องสนใจให้มาก เพระขณะนี้เราพบว่านักส่งเสริมเป็นจำนวนมากมีอายุน้อย รุ่นราวคราวเดียวกับลูกหลานของเกษตรกร ดังนั้นการที่นักส่งเสริมผู้เยาว์จะไปทำงานกับชาวบ้านอาวุโส หรือติดต่องาน กับส่วนราชการอื่น ๆ ควรใช้หลักมนุษยสัมพันธ์บางประการเช่น
1. เข้าเยี่ยมคำนับผู้บังคับบัญชาในท้องถิ่น เช่นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกเทศมนตรี
2. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ร่วมงานทราบตั้งแต่ชั้นผู้น้อยขึ้นไป
3. พบปะผู้นำในท้องถิ่น พระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า ประชาชน
4. ทำความรู้จักกับสถาบันวิชาการในท้องถิ่น เช่นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย สถานีทดลองต่าง ๆ
5. พบปะรู้จักกับสื่อมวลชนในท้องถิ่น เช่น นสพ.-วารสาร, วิทยุ, โทรทัศน์, หนังตะลุง ลิเก ฯลฯ
6. ในการแนะนำหรือสอนผู้อาวุโส ควรใช้หลักของการสอนพระคือ จงไหว้ หรือพนมมือไว้ข้างหน้า พอจะสอนหรือขอร้องให้เขาทำอะไร ก็ไหว้เสียทีหนึ่งรับรอง ว่าได้ผลแน่
7. ในการพูดต่อหน้าชุมชน หรือพบปะเกษตรกรเป็นรายบุคคลควร“ยิ้ม”ไว้เสมอ รับรองว่าจะชนะใจคนแน่ ๆ
8. อย่ากินเหล้าเมายากับชาวบ้านจนเสียบุคคลิก
9. อย่าก่อเรื่องชู้สาว หรือหลอกลวงลูกสาวชาวบ้าน
10. ควรฝึกอุดมการณ์ 4ร และ 4ส ดังนี้คือ ริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทุกข์ เสียสละ สุจริต เสมอภาค และสามัคคี

ที่มา: http://www.thaikasetsart.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3/

เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตร

เครื่องมือเกษตร หมายถึง อุปกรณ์ ที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยทุ่นแรง และอำนวยความสะดวกในการทำงาน เครื่องมือเกษตรที่ดี ควรมีลักษณะเหมาะสมกับประเภทของงานนั้น ๆ และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ช่วยให้ทำการเกษตรมีประสิทธิภาพดี ทำได้รวดเร็วและได้ผลดียิ่งขึ้น   
เครื่องมือเกษตร  แบ่งตามลักษณะของการใช้งาน  ดังนี้
1. เครื่องมือใช้กับงานดิน  เครื่องมือประเภทนี้ใช้สำหรับการทำงานเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับงานดินต่าง ๆ เช่น การเตรียมพื้นที่ การปรับปรุงดิน การผสมดิน เช่น

1.1  ช้อนปลูก    
การ ใช้  
ใช้สำหรับขุดย้ายต้นกล้าไปปลูก  ขุดหลุมปลูก หรือใช้ขุดและตักต้นกล้า เพื่อนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้การใช้ช้อนปลูกจะช่วยให้ต้นกล้าไม่ได้รับความกระทบกระเทือน
ความ ปลอดภัยในการใช้
  ช้อนปลูกตอนปลายมีลักษณะแหลมและค่อนข้างคม ถ้าผู้ใช้ ไม่ระมัดระวังอาจเกิดอันตรายได้
การ ทำความสะอาดและเก็บรักษา
 ภาย หลังการใช้ควรล้างทำความสะอาด  เช็ดให้แห้ง  ทาน้ำมันกันสนิมแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
  
1.2  ส้อมพรวน
การใช้    
 ใช้สำหรับพรวนดินรอบ ๆ ต้นพืช  ไม่ควรใช้พรวนในดิน  แข็ง  เพราะจะหักและงอง่าย
ความปลอดภัยในการใช้
ไม่ควรเล่นกันในขณะทำงาน  เพราะ    ส้อมพรวนมีความแหลมคม อาจจะได้รับอันตรายจากการใช้ได้  ถ้าผู้ใช้ขาด     ความระมัดระวัง
การทำความสะอาดและเก็บรักษา
        ภายหลังการใช้ควรล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง  ทาน้ำมันกันสนิมแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย

1.3 คราด
การใช้
        ใช้สำหรับย่อยดินและเก็บเศษหญ้า  แต่งแปลงปลูก  การ จับคราดใช้มือทั้งสองจับด้ามคราดให้ห่างกันพอสมควร แล้วถึงเข้าหาตัว
ความปลอดภัยในการใช้
        ก่อนใช้ควรตรวจดูว่าคราดอยู่ในสภาพที่      ใช้ได้หรือไม่  ขณะใช้ควรระมัดระวังไม่ให้ด้ามคราดไปถูกคนใกล้เคียง
การทำความสะอาดและเก็บรักษา
        หลังจากใช้แล้วล้างทำความสะอาดและใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง  ทาน้ำมันกันสนิมแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
1.4  เสียม
การใช้
        ใช้สำหรับขุดหลุมปลูกต้นไม้  ส่วนมากนิยมใช้ขุดหลุมขนาด    เล็กลึก  หรือใช้ในบริเวณแคบไม่เหมาะกับการใช้จอบ  เวลาขุด   ใช้มือทั้งสองข้างจับด้ามเสียมให้มือยู่ห่างกันพอสมควร  แล้วกด    ปลายเสียมลงไปในดิน

ความปลอดภัยในการใช้
        ก่อนใช้ควรตรวจสภาพของเสียมเสียก่อน  ขณะปฏิบัติงานให้   ระมัดระวังไม่ให้ด้ามเสียมไปโดนคนข้างเคียงที่ยืนอยู่ได้
การทำความสะอาดและเก็บรักษา
        ภายหลังการใช้ควรล้างทำความสะอาด  เช็ดให้แห้ง  ทาน้ำมันกันสนิมแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
1.5  จอบ

การใช
        ใช้สำหรับขุดดิน  ถากหญ้าขุดแปลง หรือใช้สำหรับขุดหลุม ใหญ่ ๆ  กรณีที่ใช้เสียมอาจจะทำให้ล่าช้าหรือไม่สามารถจะใช้   เสียมขุดได้เพราะดินแข็งเกินไป (จอบจะใช้งานค่อนข้างหนัก  โดยเฉพาะจอบขุด)
ความปลอดภัยในการใช
        ก่อนใช้ควรตรวจดูว่าจอบเข้าด้ามแน่นหนาหรือไม่  ขณะที่ ใช้จอบต้องระวังเพื่อนที่อยู่ข้างเคียงและเท้าของผู้ใช้ด้วย
การทำความสะอาดและเก็บรักษา
        หลังจากใช้แล้วล้างทำความสะอาดและใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง   ทาน้ำมันกันสนิมแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
2. เครื่องมือใช้ในการให้น้ำ เครื่องมือประเภทนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการดูแลรักษาพืช เช่น การให้น้ำพืช การให้ปุ๋ยบางชนิด การให้สารเคมีรวมทั้งการให้ฮอร์โมนบางชนิดแก่พืช
2.1 บัวรดน้ำ

การใช้
        ใช้สำหรับรดน้ำพืช  น้ำที่ออกจากฝักบัวจะเป็นฝอยกระจายทั่วต้นพืช    ทำให้พืชได้รับน้ำอย่างทั่วถึง  และส่วนต่าง ๆ ของพืชไม่หักง่าย  การใช้     บัว รดน้ำ  ถ้าไม่ระมัดระวังจะเสียหายง่ายที่ส่วนคอของ     ฝักบัวจึงควรจับที่หูหิ้วหรือที่มือจับเท่านั้น
ความปลอดภัยในการใช้
        ก่อนใช้ควรตรวจดูสภาพของบัวรดน้ำตรงที่มือจับหรือหูหิ้วเสียก่อน    ถ้าชำรุดควรซ่อมให้เรียบร้อยก่อนนำไปใช้  และขณะที่ใช้ต้องจับถือให้  แน่นเพื่อไม่ให้ตกลงเท้า 
การทำความสะอาดและเก็บรักษา
        ภายหลังการใช้แล้ว  ควรล้างทำความสะอาดถังตัวถังและฝักบัว      อย่าให้เศษหญ้าหรืออย่างอื่นอุดตัน  แล้วคว่ำเก็บเข้าที่
2.2  ถังน้ำ

การใช้
        ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อหรือสระใส่บัวรดน้ำ หรือใช้สำหรับรด   ต้นไม้  โดยใช้มือวักน้ำก็ได้ ถ้าไม่มีบัว
ความปลอดภัยในการใช้
        ก่อนใช้ควรสำรวจดูตรงหูหิ้วและเชือก(ถ้าต้องหาบ)  เมื่อเห็น ว่าไม่ปลอดภัยควรซ่อมแซมก่อนนำไปใช้  และขณะที่ใช้ต้องจับหรือหิ้วให้แน่น  เพื่อไม่ให้ตกลงเท้า
การทำความสะอาดและเก็บรักษา
        ภายหลังการใช้ควรทำความสะอาดเช็ดให้แห้ง  เก็บคว่ำ เข้าที่


ที่มา : http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/phitsanulok/bubpa_i/sec01p05.htm



วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

เทคโนโลยีชีวภาพกับการเกษตร

                เทคโนโลยีชีวภาพกับการเกษตร

                เทคโนโลยีชีวภาพที่มีการใช้เพื่อการเกษตรมีหลากหลายชนิดที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีความต้านทานต่อศัตรูพืช โรคพืช การเพิ่มความทนทานของพืชต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมของภูมิประเทศ เช่นความแห้งแล้ง อุทกภัย การพัฒนาผลไม้ให้สุกงอมช้ากว่าปกติเพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การเพิ่มผลผลิตพืชโดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว การผลิตท่อนพันธุ์พืชที่ปราศจากโรคเพื่อการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค  การเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อการขยายพันธุ์กล้วยไม้ การปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเพื่อให้มีอายุการปักแชกันให้ยาวนานขึ้นและมีกลิ่นหอม การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้มีลักษณะที่ดี การขยายพันธุ์โคนมที่ให้น้ำนมสูงโดยการปฏิสนธิในหลอดแก้ว และการย้ายฝากตัวอ่อน การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การนำจุลินทรีย์มาเปลี่ยนวัตถุดิบด้านการเกษตรที่มีราคาถูกเป็นพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น นอกจากนี้สำหรับการเกษตรด้านที่มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมได้มีการนำเอาจุลินทรีย์เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช หรือกระทั่งการใช้เชื้อจุลินทรีย์มาใช้สำหรับการกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่นแบคทีเรียบีที หรือไวรัสเอ็นพีวี
    
      
(ที่มา วารสารเทคโนโลยีชีวภาพปริทรรศน์ 1(4):8-9)

                 การเกษตรที่อาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์หรือการพัฒนาพันธุ์ให้มีคุณสมบัติตามต้องการ สามารถทนต่อดินฟ้าอากาศได้ดีขึ้น ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีขึ้น หรือมีคุณค่างทางโภชนาการมากขึ้น ทุกขั้นตอนในการศึกษาจะต้องสามารถอ้างอิงได้ตามมาตรฐานสากล และมีระบบการดูแลอย่างใกล้ชิด และเมื่อมีข้อสรุปได้ว่าสิ่งที่ทดลองนั้นมีความปลอดภัยเท่ากับพืชเปรียบเทียบต่อสิ่งมีชีวิต คน และสิ่งแวดล้อม จึงจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ เช่นกรณีไวรัสใบด่างของมะละกอซึ่งมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ อันส่งผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมากไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงมีการใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพันธุวิศวกรรมเพื่อการดัดแปรมะละกอให้มีความต้านทานต่อโรคไวรัส  แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องที่ว่ามะละกอพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคไวรัสนั้นจะมีผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรหรือไม่ ซึ่งไม่สามารถได้ข้อสรุปมาเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนของการทดสอบในสภาพปลูกจริงได้ เนื่องจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติงานกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีชีวภาพ (ดรุณี, 2546)

ที่มา วารสารเทคโนโลยีชีวภาพปริทรรศน์, 2(19) :10-16)
นาโนเทคโนโลยีคือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีขนาดเล็ก 10- 9 เท่าโดยมีความเกี่ยวข้องและครอบคลุมในทุกสาขาวิชาทางด้านการเกษตร สำหรับประเทศไทยแล้วมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าควรที่จะเร่งให้มีการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร และมีความหลากหลายทางชีวภาพ กอปรกับเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547-2554 ในการที่จะมีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งเราจะต้องมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าการเกษตรให้ตรงกับมาตรฐานสากล เพื่อที่จะได้เร่งการส่งออกและไม่ถูกกีดกัน และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน
ในภาพรวมของนาโนเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
·       ข้าว       นาโนเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะที่ดีตรงตามความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่นคุณภาพการหุงต้น หอม ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ทนต่อน้ำท่วม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
·         การเพาะเลี้ยงกุ้งและการประมง        การที่กุ้งแช่แข็งมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการส่งออกของประเทศไทย ทำรายได้ให้ไม่ต่ำหว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี แต่เพราะปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสทำให้มีความสูญเสียผลผลิต ดังนั้นจึงมีการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และยังค้นพบวิธีการสร้างฟองอากาศนาโนที่มีความคงตัวสูง แตกตัวได้ยาก เก็บกักโอโซฯไว้ได้นาน ทำให้เป็นแหล่งออกซิเจนให้กับสัตว์น้ำ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออุตสาหกรรมประมงต่อไปได้
·   ยางพารา    เนื่องจากความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกนั้นมีความต้องการที่สูง แต่อาจจะมีการลดลงได้ หากอุตสาหกรรมหันไปให้ความสนใจกับยางเทียม ซึ่งประเทศที่ส่งออกยางธรรมชาติจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน  ในประเทศไทยจึงได้มีการเพิ่มมูลค่าของยางธรรมชาติโดยใช้นาโนเทคโนโลยี ได้แก่ การสร้างถุงมือยางธรรมชาติที่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้โดยการบรรจุนาโนแคปซูลของยาฆ่าเชื้อไว้ในเนื้อถุงมือยาง
·      การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ    ปัญหาดินเค็มมากกว่า 17 ล้านไร่ใน 17 จังหวัดที่กำลังขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตลดลง 2-3 เท่า  จึงได้มีการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาปรับปรุงสภาพดินเค็มโดยการนำสารละลายคาร์โบเนียมที่สังเคราะห์ขึ้นโดยนาโนเทคโนโลยีไปฉีดพ่นที่ดิน จะเกิดปฏิกิริยาดูดซับเกลือออกจากดิน ทำให้ดินร่วนขึ้น pH เปลี่ยนเป็นกลางเหมาะกับการปลูกพืช รวมทั้งอาจจะสามารถใช้นาโนเทคโนโลยีในการใช้การเกษตรแบบควบคุมสภาวะแวดล้อมที่มีระบบการตรวจวัดสภาพของพืชผลที่ดี ทำให้สามารถประเมินลักษณะของพืชผล และสามารถบริหารจัดการพืชปลูกจนประสบความสำเร็จนั่นเอง
·     ปศุสัตว์    มีการติดตั้งนาโนไบโอเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับเชื้อแบคทีเรียที่โรคในนมไว้กับเครื่องรีดนมวัว ทำให้สามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคในน้ำนมดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
·      การเพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตร      มีการย่อยสลายวัสดุที่เหลือใช้ในการเกษตรให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นอนุภาคนาโนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถปรับแต่งรสชาติให้เหมือนไขมัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนไขมันในอาหารสุขภาพ สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก  (ณัฐพันธุ์, 2547)

เกษตรธรรมชาติ

 เกษตรธรรมชาติ(Natural Farming)
        เหตุผลที่มาของรูปแบบเกษตรธรรมชาติ
       ระบบการเกษตรในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านการทำลายความสมดุลทางธรรมชาติไร่นา คือ การเริ่มกระบวนการแห่งการปรับเปลี่ยนแนวความคิดและแนวทางการทำการเกษตร เพื่อให้เป็นการทำการเกษตรที่สามารถรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการไม่ทำลายดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช และยึดถือกฎแห่งธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการทำเกษตรกรรมที่ทำให้เกษตรกรสามารถมีชีวิต และความเป็นอยู่แบบพอเพียง และสามารถพึ่งพาตนเองได้(Self-Sufficiency and self-reliance)
       เกษตรธรรมชาติเป็นชื่อเฉพาะที่หมายถึง ประเภทของการทำเกษตรกรรม ซึ่งได้รับการพัฒนาและเผยแพร่โดยนักเกษตรธรรมชาติชาวญี่ปุ่น ชื่อ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ(Masanobu Fukuoka) เขาเชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่รู้อะไรเลยและไม่อาจเข้าใกล้ธรรมชาติ จึงยึดถือหลักการของ อกรรม(Do-noting) หรือการไม่กระทำ คือการปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม การงดเว้นกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นทุกชนิด และไม่แยกทุกสิ่งออกจากธรรมชาติ
       จากความหมายจึงสรุปได้ว่า เกษตรธรรมชาติ คือ ระบบเกษตรกรรมที่สร้างผลผลิตพืช และสัตว์ให้สอดคล้องกับนิเวศของพื้นที่ โดยพยายามแทรกแซงการใช้ปัจจัยและเทคโนโลยีทางการผลิตต่างๆให้น้อยที่สุด เพื่อให้ระบบเกษตรกรรมและธรรมชาติสามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นองค์รวม
       วัตถุประสงค์ของเกษตรธรรมชาติ
       เน้นความสามารถที่จะนำกระบวนการควบคุมทางธรรมชาติ โดยไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือการแทรกแซงใดๆในการบำรุงดิน การปล่อยให้ธรรมชาติในรูปของพืชชนิดต่างๆที่มีระบบการเจริญเติบโตและวงจรชีวิตที่แตกต่างกันควบคุมกันเอง จะก่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติได้ในที่สุด
        หลักการและเงื่อนไขของเกษตรธรรมชาติ
จากแนวความคิดและหลักของอกรรม หรือการไม่กระทำ ก่อให้เกิดหลักการพื้นฐานของเกษตรกรรมธรรมชาติ 4 ข้อ คือ
               1) การไม่ไถพรวนดิน
เนื่องจากธรรมชาติดินมีการไถพรวนดินโดยตัวมันเองอยู่แล้วจากการชอนไชของแมลง และสิ่งมีชีวิตเล็กในดิน ทำให้การไถพรวนดินก่อให้เกิดการทำลายโครงสร้างของดิน ทำให้ดินจับตัวกันแน่นแข็ง รากพืชและสิ่งมีชีวิตในดินไม่สามารถทำหน้าที่ตามธรรมชาติได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาการสูญเสียหน้าดินอีกด้วย
               2) การไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก
เนื่องจากการทำปุ๋ยหมักจะมีผลต่อพืชในเวลาอันสั้น มีธาตุอาหารที่ไม่สมบูรณ์ และยังมีผลต่อโครงสร้างของดินและความอุดมสมบูรณ์ในระยะสั้น และเป็นงานที่หนักแก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดสามารถกระทำได้ เพื่อการปรับสภาพแวดล้อมที่เสียไป ปุ๋ยคอกก็สามารถใช้ได้ในปริมาณพอเหมาะสม
               3) การไม่กำจัดวัชพืช
เนื่องจากการกำจัดวัชพืชเป็นงานที่หนัก และเป็นภาระแก่เกษตรค่อนข้างมาก ยังมีผลต่อโครงสร้างดินและทำให้ดินขาดพืชคลุมดินดังนั้นจึงควรยอมรับการดำรงอยู่ของวัชพืช มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของหญ้าหรือวัชพืชในฐานะของการเป็นพืชคลุมดิน
               4) การไม่ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช
การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชนอกจากจะทำลายศัตรูพืชแล้ว ยังทำลายสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อพืชหรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูธรรมชาติทำให้เสียสมดุลธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ และปัญหาสารพิษตกค้างตามมาอีกด้วย ทั้งนี้ควรใช้กลไกทางธรรมชาติทำหน้าที่ศัตรูพืชด้วยตัวมันเอง
       นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องของการคลุมดิน(Mulching) และการปลูกพืชเพื่อบำรุงดินทั้งนี้เพื่อป้องกันผลเสียที่เกิดขึ้นกับดิน โครงสร้างของดินและความสมดุลของดิน ตลอดจนปัญหาการสูญเสียและการชะล้างหน้าดิน


        การพัฒนารูปแบบเกษตรธรรมชาติในประเทศไทย
       เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2530 ภายหลังจากที่ข้อเขียนเรื่อง One Straw Revolution ของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ได้รับการถอดความและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย และแนวความคิดเรื่องเกษตรธรรมชาติก็ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง ต่อมากลุ่มสันติอโศก นับเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มแรกที่ได้ขานรับแนวความคิดเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ และได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่แนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเกษตรกรรมออกไป ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เช่น นายคำเดื่อง ภาษี
       การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ ฟูกูโอกะ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้แนวความคิดนี้มีได้รับความสนใจมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้เกิดการตื่นตัวและการยอมรับในแนวความคิดเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มศึกษาเกษตรธรรมชาติ”ขึ้นโดยเกษตรกรผู้ที่สนใจและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เช่น การพบว่าดินในหลายพื้นที่ เนื้อดินมีความแข็งมาก ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ การทำนาโดยไม่ไถพรวนเลย จึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงมีการอนุโลมให้ไถพรวนไปก่อนในกรณีที่ดินแข็งและไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการถกเถียงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่าผิดหลักเกษตรธรรมชาติหรือไม่
       นอกจากนี้เกษตรกรที่ทำการเกษตรธรรมชาติยังไม่มีความเข้าใจ ถึงหลักการของเกษตรกรรมธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะแรงจูงใจเกิดมาจากฐานของเศรษฐทรรศน์มากกว่านิเวศทรรศน์ รวมทั้งแนวปฏิบัติจะต้องมีหลักการที่ค่อนข้างเคร่งครัด ดังนั้นจึงนับว่ายังมีการจำกัดอยู่มากมักจะอยู่ในเกษตรกรที่มีความศรัทธาร่วมกันอย่างแท้จริง เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มศรัทธา แต่การทำการเกษตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่มุ่งเน้นการเข้าหาความสงบสุขจากธรรมชาติให้มากที่สุดเป็นสำคัญ


       รูปแบบเกษตรธรรมชาติ
              1) ระบบการเกษตรธรรมชาติในเขตนิเวศที่ราบลุ่ม
ควรปรับระบบแปลงเพื่อให้มีระบบการระบายน้ำที่ดี หากเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย ควรจัดการมิให้สัตว์เข้ามาทำลายพื้นที่เพาะปลูก
              2) ระบบการเกษตรธรรมชาติในเขตนิเวศที่ดอนและที่สูง
ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม โดยการลดพื้นที่การทำนาหรือ พืชไร่ลง และเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นอื่นๆ 
       ข้อเด่นของการเกษตรธรรมชาติ มีอยู่ 2 ประการ คือ
              1) การฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศ
              2) การลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก
ทำให้เกษตรกรในไร่นาต้องเกื้อกูลกับระบบธรรมชาติเท่านั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ต่างๆเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มี เสถียรภาพมากขึ้นภายใต้ระบบนิเวศที่สมดุลในไร่นา

เกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์(Organic Farming)
        เหตุผลที่มาของรูปแบบเกษตรอินทรีย์
       เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นมาจากการให้ความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยวิธีทางธรรมชาติ ปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและสารเร่งการเจริญเติบโตทุกชนิด เนี่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในไร่นา ก่อให้เกษตรกรประสบปัญหาในด้านสุขภาพอย่างรุนแรง ประกอบกับต้องลงทุนสูง แต่ผลผลิตที่ได้มีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม นอกจากนี้สารเคมีที่ใช้ยังไปทำลายแมลงและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ เป็นผลให้ระบบนิเวศเกิดความไม่สมดุล นอกจากนี้เกษตรอินทรีย์จะเน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากประสบการณ์ ผสมผสานกับวิทยาการสมัยใหม่แบบพึ่งพาธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหา และนำมาสู่ความยั่งยืนทางการเกษตร
จึงอาจกล่าวได้ว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพ ใช้ซากพืช มูลสัตว์ การปลูกพืชหมุนเวียน แร่ธาตุตามธรรมชาติในการปรับปรุงดิน ผสมผสานกับการกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติช่วยในการควบคุมทำลายศัตรูพืช
         วัตถุประสงค์ของเกษตรอินทรีย์
                1) การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเกิดขึ้น ดำรงอยู่และตายไปต้องอาศัยดิน ในขณะที่พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ ฉะนั้นพืชจึงเป็นแหล่งอาหารเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต้องมีคุณสมบัติที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ แร่ธาตุ อินทรียวัตถุ และสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจีงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินโดยให้ความสำคัญของโครงสร้างทางกายภาพของดิน และองค์ประกอบที่เป็นธาตุอาหารพืช อินทรีย์วัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน
                2) การสร้างความปลอดภัยของอาหาร
เนื่องจากการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากและสะสมเป็นระยะเวลานานของรูปแบบการเกษตรกระแสหลัก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อพัฒนาการของภูมิปัญญาท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุด คือ ผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคจากสารพิษที่ตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร
        หลักการและเงื่อนไขของเกษตรอินทรีย์
                1) การหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการผลิต
                2) การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จุลินทรีย์
                3) การควบคุมและกำจัดศัตรูโดยชีวภาพ กายภาพ และอินทรีย์เคมีหรือโดยวิธีธรรมชาติ
        เนื่องจากในแนวทางการเกษตรแบบอินทรีย์นั้น หัวใจสำคัญ คือ การปรับปรุงดินให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เทคนิคต่างๆ ในการปรับปรุงดิน จึงถือเสมือนว่าเป็นปัจจัยปลักแห่งความสำเร็จของการเกษตรอินทรีย์ อาทิ เช่น
                • การใช้ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน พืชหมุนเวียน ปลูกพืชสดเป็นปุ๋ย
                • การใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คือ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เศษพืชที่มีในไร่นา
                • การใช้จุลินทรีย์ในดิน เช่น โปรโตซัว เชื้อรา แบคที่เรีย ไวรัส ทำให้เกิดกระบวนการทางชีวเคมี ในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดิน ในการปรับปรุงดิน
                • ใช้วัสดุที่เกิดจากธรรมชาติประกอบด้วยหินที่มีแร่ธาตุอาหารที่ต้องการ
                • การใช้ชีววิธีหรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การกำจัดเพลี้ยอ่อนโดยใช้ว่านน้ำ พญาไร้ใบ และทานตะวัน เป็นต้น
                • การใช้กลวิธีในการดักจับศัตรูพืช เช่นติดไฟล่อแมลง กาวกับดัก เป็นต้น




        การพัฒนารูปแบบเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
       แนวคิดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ได้รับการพัฒนามาจากประสบการณ์ในทางปฏิบัติ ของผู้ที่เป็นทั้งนักวิชาการเกษตรและเกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีกรรมวิธีที่หลากหลายในการจัดระบบการผลิต เช่น ทำการเพาะปลูกพืชหลายชนิดผสมผสานกันเพื่อให้เกิดความหลากหลาย ใช้ชีววิธีในการกำจัดศัตรูพืช หรือทำการปลูกพืชชนิดเดียวแต่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ผลผลิตเกษตรปลอดสารพิษได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการโดยขึ้นอยู่กับขนาด ความสด รสชาติ มาตรฐานและคุณภาพ ดังนั้นจึงมีการกำหนดมาตรฐานสากลของ สมาพันธ์ขบวนการเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federal of Organic Agriculture Movement: IFOAM)ซึ่งต่อมาในประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็น สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท.(Organization Agriculture Certification Thailand:ACT)





        รูปแบบเกษตรอินทรีย์ สามารถจำแนกตามประเภทของพืชที่ปลูกได้ดังนี้
              1) การปลูกพืชผักในแบบเกษตรอินทรีย์
เป็นการปลูกผักชนิดเดียวหรือปลูกผสมผสานกันหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน
              2) การปลูกพืชไร่ในแบบเกษตรอินทรีย์
เช่น ข้าว ซึ่งมีการพัฒนาเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเป็นระบบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ อาจจะมีการประยุกต์โดยเพิ่มพืชตระกูลถั่ว หรือเลี้ยงปลาในนาข้าวไปด้วยก็ได้
              3) การปลูกไม้ผลในแบบเกษตรอินทรีย์
เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยจากเศษเหลือของพืช มูลและซากสัตว์ เป็นอาหารของ
จุลินทรีย์เพื่อช่วยในการปรับปรุงดิน ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
        ข้อเด่นของการเกษตรอินทรีย์
              1) การก่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ
              2) การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
              3) การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน

เกษตรทฤษฎีใหม่

เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture)
       เหตุผลที่มาของรูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่
เกิดจากการวิเคราะห์ปัญหาทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรในประเทศไทยมี 2 ปัญหาที่สำคัญ คือ
             1) ปัญหาภัยแล้งจากการขาดแคลนน้ำ
ที่เกษตรกรรมไทยกว่า 70%อยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้เกษตรต้องอาศัยแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวทำให้เสียดุลระบบนิเวศ ซึ่งการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ 1ไร่ดังนั้นหากต้องการปลูกข้าว 5ไร่และพืชผักผลไม้ 5ไร่ จึงต้องมีน้ำเพื่อใช้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
             2) ความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของเกษตรกร
ดังนั้นการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงเน้นให้มีการผลิตข้าวไว้ใช้ในการบริโภคได้ตลอดปีอย่างน้อย 5 ไร่ก็จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ นอกเหนือจากการปลูกข้าวก็ได้มีการเสนอให้จัดสรรพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น ในพื้นที่ที่ถือครองอยู่เฉลี่ย 10-15 ไร่ ควรมีการจัดสรรที่ดินออกเป็นสัดส่วนดังนี้
              • ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ให้มีการขุดสระน้ำความจุประมาณ10,000 ลูกบาศก์เมตรไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้
              • ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัว หรือปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ
              • ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ใช้ในการทำนาหรือปลูกข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร
              • ร้อยละ 10 ของพื้นที่ เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย
       โดยสรุปแล้ว การเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงนับได้ว่าเป็น ระบบเกษตรที่เน้นการจัดสรรทรัพยากรน้ำในไร่นา เพื่อสร้างผลผลิตอาหารที่พอเพียงและเพื่อการผลิตที่หลากหลาย สำหรับเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงแก่ครัวเรือนเกษตรกร ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และขาดแคลนทรัพยากรให้บรรเทาลง จนกระทั่งพัฒนาถึงขั้นที่เกษตรกร สามารถพึ่งตนเองได้
       แนวทางดังกล่าว เป็นแนวการบริหารงานพัฒนาการเกษตรแนวใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำรีขึ้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนได้ยึดหลักการในการพัฒนาต่อๆมา
       วัตถุประสงค์ของการเกษตรทฤษฎีใหม่ 3 ประการ คือ
              (1) ความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้มีอาหารเพื่ออุปโภคและบริโภคภายครัวเรือนเป็นการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก จึงก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร
              (2) การจัดการทรัพยากรน้ำ เน้นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตในไร่นามีการจัดการบริหารน้ำที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
              (3) ความมั่นคงทางด้านรายได้ เน้นการทำเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในส่วนที่เหลือ จึงจะก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย
       หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่
       1.หลักการทั่วไปของเกษตรทฤษฏีใหม่
              • เป็นรูปแบบการทำการเกษตร สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นท่ำกินอย่างน้อย10-15 ไร่ในเขตน้ำฝน
              • การมีแหล่งน้ำในไร่นา สามารถใช้ประโยชน์น้ำเพื่อทำการเกษตรทั้งการปลูกพืชและประมง
              • เกษตรกรมีพื้นที่ทำนาซึ่งผลิตอาหารหลัก ให้มีผลผลิตเพียงพอแก่การบริโภค
              • การแบ่งพื้นที่การเกษตรให้หลากหลายเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายเพื่อเป็นรายได้สู่ครอบครัว
              • การทำกิจกรรมหลายอย่างเป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
              • การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ไม้ผลไว้บริโภค มีฟืนไว้ใช้ เป็นการสร้างความชุ่มชื้นแก่ธรรมชาติ
              • การมีแหล่งกักเก็บน้ำในไร่นา เกษตรกรจะใช้น้ำอย่างประหยัดเห็นคุณค่าและเพิ่มปริมาณน้ำได้มากขึ้น
       2. กิจกรรมเชิงระบบของการเกษตรทฤษฎีใหม่
              • กิจกรรมด้านแหล่งน้ำ ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ควรมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไว้รองรับในฤดูแล้ง
              • กิจกรรมด้านอาหาร ได้แก่ การมีผลผลิตเพื่อใช้เป็นอาหารของเกษตรกรและสัตว์เลี้ยง เช่น ข้าว พืชไร่ พืชผักสวนครัว สัตว์น้ำ
              • กิจกรรมด้านรายได้ ได้แก่ กิจกรรมในมิติด้านเศรษฐกิจที่พิจารณารายได้ที่เกิดขึ้นจากระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น รายได้รายวัน รายได้รายสัปดาห์ รายได้รายเดือน รายได้รายปี
              • กิจกรรมพื้นที่บริเวณบ้าน ได้แก่ กิจกรรมในพื้นที่บ้าน มีทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไม้ผลไม้ยืนต้น การเลี้ยงสัตว์และการเพาะเห็ด เป็นต้น
       3.ประเด็นเฉพาะของการเกษตรทฤษฎีใหม่
โดยการระบุเปรียบเทียบบางประเด็นที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างของการเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเกษตรวิธีอื่นๆไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
              • เกษตรกรที่มีพื้นฐานต่างๆไม่ตรงกับสมมติฐาน เช่น มีพื้นที่มาก มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ฐานะดี และมีสมาชิกในครัวเรือนน้อย ต้องจ้างแรงงาน ก็มีสิทธิที่จะทำการเกษตรที่คล้ายคลึงกับแนวทฤษฎีใหม่ได้ แต่เป็นการทำการเกษตรผสมผสานตามปกติ หรือเกษตรชลประทานตามปกติ ไม่น่าจะเรียกว่า เกษตรทฤษฎีใหม่
              • ถ้าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวหรือปลูกข้าวไม่ได้ ก็ไม่ใช่เกษตรทฤษฎีใหม่ได้ แต่เป็นการทำไร่หรือทำสวนตามปกติ
              • ถ้าขุดบ่อแล้วเก็บน้ำไม่ได้ ก็ไม่ใช่การเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่เป็นการเกษตรที่ใช้น้ำฝนตามปกติ
              • บางรายที่มีสระน้ำขนาดเล็กอยู่แล้ว เป็นเกษตรกรรมโดยปกติถ้าเพียงปลูกข้าวหรือพืชผักสวนครัวหรือพืชไร่อย่างเดียว แต่ถ้าเปลี่ยนไปปลูกข้าวผสมกับพืชสวนและพืชไร่ ในส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับ 30:30:30:10 ก็จัดได้ว่าเป็นการเกษตรทฤษฎีใหม่ได้
       การเปรียบเทียบและเงื่อนไขเบื้องต้นชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัจจัยหลักของการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่คือ เป็นรูปแบบของการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก(10-15ไร่) ควรอยู่นอกเขตชลประทานที่สมบูรณ์มีการจัดการน้ำในรูปแบบของสระน้ำในไร่นา มีการปลูกข้าวเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารภายในครัวเรือน และมีกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินและสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรมีพื้นที่มากกว่านี้ ควรจะต้องแบ่งทำส่วนหนึ่งตามวิธีทฤษฎีใหม่ ตามกำลังของครอบครัว ส่วนพื้นที่ที่เหลือต้องทำแบบเดิม สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในเขตทำสวนไม้ยืนต้น และสวนผลไม้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาทำเกษตรวิธีนี้


       การพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในประเทศไทย
       จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัย ต.เขาดินพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี โดยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร) กรมวิชาการเกษตร และหน่วยราชการอื่นๆและมีวัดมงคลชัยพัฒนาเป็นแกนกลางในการประสานงานพัฒนา และได้เริ่มทำการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เริ่มต้นดำเนินการในปี 2532 โดยใช้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาและพัฒนารูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายหลังจากที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ สามารถพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น โดยมีต้นทุนลดลง ทั้งยังมีการผลิตอาหารในไร่นาเพื่อใช้ในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการขยายผลสู่พื้นที่ในไร่นาของเกษตรกรรอบโครงการ และเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อจากนั้นในปี 2536 ได้มีการดำเนินการอีก 1 โครงการ คือ ที่บ้านแตนสามัคคี ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
      ในการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการโดยมี โครงการที่สำคัญ 2 โครงการคือ
            1. โครงการปีรณรงค์เพื่อขยายผลไร่นาสวนผสมตามแนวทฤษฎีใหม่
            2. โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ




       รูปแบบการผลิตทางการเกษตรทฤษฎีใหม่
       เป็นรูปแบบการผลิตที่เพิ่งมีการนำเสนอในประเทศไทย ดังนั้นจึงยังไม่มีการพัฒนาในรูปแบบย่อยๆ อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะดำเนินการไปโดยยึดหลักการโดยทั่วไปเป็นหลัก อย่างไรก็ตามแนวทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้ ก็อาจจะทำให้เกิดรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะ เหมาะสมกับพื้นที่ได้ในอนาคต เช่น อาจจะไม่ต้องใช้สระในสัดส่วนเท่ากับที่กำหนดไป
        ข้อเด่นของการเกษตรทฤษฎีใหม่ สรุปได้ 5 ประการคือ
              1) เป็นแนวทางที่เน้นถึงวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงทางด้านอาหารภายในครัวเรือน
              2) เป็นแนวทางที่เน้นการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับไร่นา
              3) เป็นแนวทางที่ไม่ยึดติดกับเทคนิคเฉพาะในการจัดการการผลิตในไร่นา
              4) เป็นแนวทางที่เสนอแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน
              5) เป็นแนวทางที่เน้นกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายชัดเจน
       นอกจากนี้ คือ การระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นครัวเรือนเกษตรกร ที่อยู่นอกเขตชลประทานที่มีพื้นที่ถือครอง 10-15 ไร่ อย่างไรก็ดีกลุ่มเกษตรที่มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่รวมถึงเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ยังมิใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของการเกษตรทฤษฎีใหม่ ความท้าทายของการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาชนบทในอนาคตคือ การพยายามปรับปรุงหรือดัดแปลงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในสังคมไทย