วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

เกษตรธรรมชาติ

 เกษตรธรรมชาติ(Natural Farming)
        เหตุผลที่มาของรูปแบบเกษตรธรรมชาติ
       ระบบการเกษตรในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านการทำลายความสมดุลทางธรรมชาติไร่นา คือ การเริ่มกระบวนการแห่งการปรับเปลี่ยนแนวความคิดและแนวทางการทำการเกษตร เพื่อให้เป็นการทำการเกษตรที่สามารถรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการไม่ทำลายดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช และยึดถือกฎแห่งธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการทำเกษตรกรรมที่ทำให้เกษตรกรสามารถมีชีวิต และความเป็นอยู่แบบพอเพียง และสามารถพึ่งพาตนเองได้(Self-Sufficiency and self-reliance)
       เกษตรธรรมชาติเป็นชื่อเฉพาะที่หมายถึง ประเภทของการทำเกษตรกรรม ซึ่งได้รับการพัฒนาและเผยแพร่โดยนักเกษตรธรรมชาติชาวญี่ปุ่น ชื่อ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ(Masanobu Fukuoka) เขาเชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่รู้อะไรเลยและไม่อาจเข้าใกล้ธรรมชาติ จึงยึดถือหลักการของ อกรรม(Do-noting) หรือการไม่กระทำ คือการปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม การงดเว้นกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นทุกชนิด และไม่แยกทุกสิ่งออกจากธรรมชาติ
       จากความหมายจึงสรุปได้ว่า เกษตรธรรมชาติ คือ ระบบเกษตรกรรมที่สร้างผลผลิตพืช และสัตว์ให้สอดคล้องกับนิเวศของพื้นที่ โดยพยายามแทรกแซงการใช้ปัจจัยและเทคโนโลยีทางการผลิตต่างๆให้น้อยที่สุด เพื่อให้ระบบเกษตรกรรมและธรรมชาติสามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นองค์รวม
       วัตถุประสงค์ของเกษตรธรรมชาติ
       เน้นความสามารถที่จะนำกระบวนการควบคุมทางธรรมชาติ โดยไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือการแทรกแซงใดๆในการบำรุงดิน การปล่อยให้ธรรมชาติในรูปของพืชชนิดต่างๆที่มีระบบการเจริญเติบโตและวงจรชีวิตที่แตกต่างกันควบคุมกันเอง จะก่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติได้ในที่สุด
        หลักการและเงื่อนไขของเกษตรธรรมชาติ
จากแนวความคิดและหลักของอกรรม หรือการไม่กระทำ ก่อให้เกิดหลักการพื้นฐานของเกษตรกรรมธรรมชาติ 4 ข้อ คือ
               1) การไม่ไถพรวนดิน
เนื่องจากธรรมชาติดินมีการไถพรวนดินโดยตัวมันเองอยู่แล้วจากการชอนไชของแมลง และสิ่งมีชีวิตเล็กในดิน ทำให้การไถพรวนดินก่อให้เกิดการทำลายโครงสร้างของดิน ทำให้ดินจับตัวกันแน่นแข็ง รากพืชและสิ่งมีชีวิตในดินไม่สามารถทำหน้าที่ตามธรรมชาติได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาการสูญเสียหน้าดินอีกด้วย
               2) การไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือทำปุ๋ยหมัก
เนื่องจากการทำปุ๋ยหมักจะมีผลต่อพืชในเวลาอันสั้น มีธาตุอาหารที่ไม่สมบูรณ์ และยังมีผลต่อโครงสร้างของดินและความอุดมสมบูรณ์ในระยะสั้น และเป็นงานที่หนักแก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดสามารถกระทำได้ เพื่อการปรับสภาพแวดล้อมที่เสียไป ปุ๋ยคอกก็สามารถใช้ได้ในปริมาณพอเหมาะสม
               3) การไม่กำจัดวัชพืช
เนื่องจากการกำจัดวัชพืชเป็นงานที่หนัก และเป็นภาระแก่เกษตรค่อนข้างมาก ยังมีผลต่อโครงสร้างดินและทำให้ดินขาดพืชคลุมดินดังนั้นจึงควรยอมรับการดำรงอยู่ของวัชพืช มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของหญ้าหรือวัชพืชในฐานะของการเป็นพืชคลุมดิน
               4) การไม่ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช
การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชนอกจากจะทำลายศัตรูพืชแล้ว ยังทำลายสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อพืชหรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูธรรมชาติทำให้เสียสมดุลธรรมชาติ และยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ และปัญหาสารพิษตกค้างตามมาอีกด้วย ทั้งนี้ควรใช้กลไกทางธรรมชาติทำหน้าที่ศัตรูพืชด้วยตัวมันเอง
       นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องของการคลุมดิน(Mulching) และการปลูกพืชเพื่อบำรุงดินทั้งนี้เพื่อป้องกันผลเสียที่เกิดขึ้นกับดิน โครงสร้างของดินและความสมดุลของดิน ตลอดจนปัญหาการสูญเสียและการชะล้างหน้าดิน


        การพัฒนารูปแบบเกษตรธรรมชาติในประเทศไทย
       เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2530 ภายหลังจากที่ข้อเขียนเรื่อง One Straw Revolution ของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ได้รับการถอดความและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย และแนวความคิดเรื่องเกษตรธรรมชาติก็ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง ต่อมากลุ่มสันติอโศก นับเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มแรกที่ได้ขานรับแนวความคิดเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ และได้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่แนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเกษตรกรรมออกไป ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เช่น นายคำเดื่อง ภาษี
       การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ ฟูกูโอกะ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้แนวความคิดนี้มีได้รับความสนใจมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้เกิดการตื่นตัวและการยอมรับในแนวความคิดเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มศึกษาเกษตรธรรมชาติ”ขึ้นโดยเกษตรกรผู้ที่สนใจและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เช่น การพบว่าดินในหลายพื้นที่ เนื้อดินมีความแข็งมาก ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ การทำนาโดยไม่ไถพรวนเลย จึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงมีการอนุโลมให้ไถพรวนไปก่อนในกรณีที่ดินแข็งและไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการถกเถียงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่าผิดหลักเกษตรธรรมชาติหรือไม่
       นอกจากนี้เกษตรกรที่ทำการเกษตรธรรมชาติยังไม่มีความเข้าใจ ถึงหลักการของเกษตรกรรมธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะแรงจูงใจเกิดมาจากฐานของเศรษฐทรรศน์มากกว่านิเวศทรรศน์ รวมทั้งแนวปฏิบัติจะต้องมีหลักการที่ค่อนข้างเคร่งครัด ดังนั้นจึงนับว่ายังมีการจำกัดอยู่มากมักจะอยู่ในเกษตรกรที่มีความศรัทธาร่วมกันอย่างแท้จริง เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มศรัทธา แต่การทำการเกษตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่มุ่งเน้นการเข้าหาความสงบสุขจากธรรมชาติให้มากที่สุดเป็นสำคัญ


       รูปแบบเกษตรธรรมชาติ
              1) ระบบการเกษตรธรรมชาติในเขตนิเวศที่ราบลุ่ม
ควรปรับระบบแปลงเพื่อให้มีระบบการระบายน้ำที่ดี หากเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย ควรจัดการมิให้สัตว์เข้ามาทำลายพื้นที่เพาะปลูก
              2) ระบบการเกษตรธรรมชาติในเขตนิเวศที่ดอนและที่สูง
ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม โดยการลดพื้นที่การทำนาหรือ พืชไร่ลง และเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นอื่นๆ 
       ข้อเด่นของการเกษตรธรรมชาติ มีอยู่ 2 ประการ คือ
              1) การฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศ
              2) การลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก
ทำให้เกษตรกรในไร่นาต้องเกื้อกูลกับระบบธรรมชาติเท่านั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ต่างๆเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มี เสถียรภาพมากขึ้นภายใต้ระบบนิเวศที่สมดุลในไร่นา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น